VitalKlares
ฟื้นฟูร่างกายในระดับเซลล์ ด้วย "กรดอะมิโน"
Updated: Aug 30, 2021

โปรตีน คือสารอาหารหลักที่จำเป็นมากสำหรับร่างกาย และมีหน่วยย่อยเล็กที่สุดเรียกว่ากรดอะมิโน กรดอะมิโนนี้เองที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้าง เสริมความแข็งแรงและกำหนดให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างสารสื่อประสาทและยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์และโกรธฮอร์โมน เป็นต้น
อาหารกลุ่มโปรตีนจะให้กรดอะมิโนที่หลากหลายต่างกันไป หากเราได้รับกรดอะมิโนน้อยเกินไปหรือไม่ครบถ้วนก็อาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กการขาดโปรตีนจะมีผลมากกับการเจริญเติบโตและสติปัญญา สำหรับผู้ใหญ่การขาดโปรตีนอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติมากมาย เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ติดเชื้อได้ง่าย และฟื้นตัวจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้ช้า เป็นต้น
โดยปกติเมื่อพูดถึงแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนเรามักนึกถึงเนื้อสัตว์ แต่เราก็ยังสามารถได้รับโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ เช่น และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ไข่และนม) หรือได้รับโปรตีนจากพืชได้อีกด้วย เนื้อสัตว์จัดเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีแต่ก็มีสัดส่วนของไขมันอิ่มตัวอยู่ในปริมาณมาก การบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมากหรือการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดเดียวซ้ำ ๆ จึงอาจไม่ดีกับสุขภาพ ปัจจุบันในกลุ่มคนรักสุขภาพมีกระแสหันไปรับประทานมังสวิรัติและเน้นการบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อว่าแหล่งโปรตีนจากพืชมักมีไขมันอิ่มตัวต่ำ มีใยอาหารสูง อีกทั้งให้พลังงานต่ำกว่าเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ดีการจะเลือกบริโภคอาหารชนิดใดแล้วดีกับสุขภาพนั้นไม่สามารถวัดกันที่แหล่งที่มาของโปรตีนเพียงอย่างเดียว การเลือกรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนในปริมาณแคลอรีที่เหมาะสม รวมทั้งมีชนิดของโปรตีนที่หลากหลายต่างหากที่สำคัญต่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
กรดอะมิโนจากอาหารจะถูกแบ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acid) และกรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-essential amino acid) กรดอะมิโนจำเป็นคือกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ มีความจำเป็นต้องได้รับจากภายนอกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการได้รับจากอาหาร โดยทั่วไปโปรตีนจากสัตว์มักให้กรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน โปรตีนจากพืชมักจะขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางตัวไป ยกเว้นโปรตีนที่ได้จากพืชตระกูลถั่วเช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น กรดอะมิโนจำเป็นสำหรับมนุษย์มีด้วยกัน 10 ชนิด ได้แก่ ไอโซลิวซีน (Isoleucine) ลิวซีน (Leucine) ไลซีน(Lysine) เมไทโอนีน(Methionine) ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ทรีโอนีน( Threonine) ทริปโตเฟน (Tryptophan) และวาลีน (Valine) สำหรับเด็กนั้นจะมีความต้องการกรดอะมิโนเพิ่มมากกว่าผู้ใหญ่อีกสองชนิด คือ อาร์จีนีน (Arginine) และฮีสทิดีน (Histidine)

หากเปรียบร่างกายเป็นเครื่องจักร เครื่องจักรจะทำงานได้ดีก็ต้องได้รับแหล่งพลังงานที่ดี ร่างกายจะทำงานได้ดีก็ต้องมีสารอาหารที่ดีหล่อเลี้ยง ร่างกายทำงานโดยการควบคุมของฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนที่เหมาะสมจึงสำคัญมาก เพราะฮอร์โมนเปรียบเสมือนวิศวกรที่คอยดูแลปรับแต่งการทำงานของร่างกายให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ร่างกายเราถูกควบคุมโดยฮอร์โมนหลายชนิด และฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งก็คือโกรทฮอร์โมน (Growth hormone)
โกรทฮอร์โมน คือ ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นฮอร์โมนประเภทโปรตีน ที่เรียกว่าเปปไทด์ฮอร์โมน ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเจริญเติบโต ช่วยสร้างเซลล์ใหม่พร้อมกับควบคุมการเผาผลาญในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ ร่างกายสามารถสร้างและหลั่งโกรทฮอร์โมนได้ตลอดชีวิตแต่จะมีระดับลดลงตามอายุที่มากขึ้น โดยหลังจากอายุ 30 ระดับของโกรทฮอร์โมนจะลดลงเฉลี่ย 15 % ทุก ๆ 10 ปี[1] นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้วยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบให้ร่างกายมีการหลั่งโกรทฮอร์โมนที่ลดลงได้ เช่น การขาดการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะทุพโภชนาการ ความเครียด ภาวะน้ำหนักเกิน[2]เป็นต้น


โกรทฮอร์โมน ประกอบด้วยกรดอะมิโนมากถึง 191 โมเลกุล[1] จะถูกผลิตขึ้นในร่างกายขณะที่เรานอนหลับ โดยจะมีการหลั่งมากที่สุดในชั่วโมงแรกของการนอนหลับสนิท[2] โกรทฮอร์โมนจะถูกส่งไปยังตับเพื่อให้ผลิตสารที่ทำหน้าที่เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth factor) ที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลินที่เรียกว่า Insulin-Like Growth Factor-1 (IGF-1) หรือ โซมาโตเมดินซี (Somatomedin C) มีหน้าที่ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อของร่างกายเรา ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูก และกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายในการเผาผลาญอาหารโดยเฉพาะสารอาหารนกลุ่มคาร์โบไฮเดรต[3] นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ[4] ช่วยให้การทำงานของสมองและระบบประสาทมีประสิทธิภาพมากขึ้น[5] เนื่อจากโกรทฮอร์โมนจะมีค่าครึ่งชีวิตในร่างกายสั้น มีการสร้างและถูกทำลายในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ในทางคลินิกการวัดระดับโกรทฮอร์โมนจะใช้การวัดระดับ IGF1 แทน เนื่องจาก IGF1 มีค่าครึ่งชีวิตในร่างกายที่ยาวกว่า และ IGF1 ยังมีค่าสัมพันธ์โดยตรงกับระดับโกรทฮอร์โมนในร่างกาย[6]
1 Merriam GR, Hersch EC. Growth hormone (GH)-releasing hormone and GH secretagogues in normal aging:
Fountain of Youth or Pool of Tantalus? Clin Interv Aging. 2008;3(1):121–9.
2 Pavlov EP, Harman SM, Merriam GR, Gelato MC, Blackman MR. Responses of growth hormone (GH) and
somatomedin C to GH-releasing hormone in healthy aging men. J Clin Endocrinol Metab. 1986;62:595
3 Curr Protein Pept Sci. 2007 Jun;8(3):283-92.
4 J Pediatr. 1996 May;128(5 Pt 2):S32-7.
5 Clin Med Insights Endocrinol Diabetes. 2016; 9: 47–71.
6 Growth Horm IGF Res. 2019 Apr;45:6-16.
7 Ageing Res Rev. 2005 May; 4(2):195-212.
8 https://en.wikipedia.org/wiki/Insulin-like_growth_factor_1

เนื่องจากโกรทฮอร์โมนมีคุณสมบัติเด่นหลายประการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จึงมีความพยายามอยากเอาชนะธรรมชาติโดยการเสริมโกรทฮอร์โมนจากภายนอกเพื่อเพิ่มและคงความแข็งแรงของร่างกาย ชะลอวัยและหวังเพิ่มอายุขัย แต่เนื่องจากการทำงานของร่างกายนั้นเป็นการสอดประสานกันของฮอร์โมนและสารเคมีอื่นๆ อีกหลายชนิด การปรับแต่งแค่โกรทฮอร์โมนเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ก่อเกิดผลดีตามที่เราคาดหวัง งานวิจัยบางชิ้นรายงานว่าสัตว์ทดลองและผู้สูงอายุที่ได้รับโกรทฮอร์โมนเสริมในปริมาณที่สูงมาก (supranormal) มีความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิดมากขึ้น รวมทั้งยังมีอายุขัยที่สั้นลงอีกด้วย[1]

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่มีผลกับสุขภาพโดยตรงและยังมีส่วนช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนหลายตัวในร่างกายได้ การออกกำลังกายโดยเฉพาะการออกกำลังกายกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมสามารถเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมนและระดับเทสโทสสเตอโรน (ฮอร์โนเพศชาย) ได้ [2] การออกกำลังกายยังสามารถช่วยสร้างโกรทฮอร์โมนได้แม้ในคนที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ[3] การรับประทานอาหารก่อนนอนจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินซึ่งจะมีผลลดการสร้าง IGF1 จากโกรทฮอร์โมนและทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากโกรทฮอร์โมนลดลง[4] การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างมีคุณภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการสร้างโกรทฮอร์โมนและสามารถช่วยรักษาระดับโกรทฮอร์โมนได้ในทุกช่วงอายุ

ภาวะโภชนาการที่ครบถ้วนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ร่างกายมีความแข็งแรง การรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่จึงเป็นสิ่งจำเป็นและยังมีความสำคัญมาก ปัจจุบันนี้หลายคนมีชิวิตที่เร่งรีบและอาจไม่สามารถเตรียมอาหารได้เอง ไม่สามารถรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ในทุกมื้อได้เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ ทางเลือกที่ปลอดภัยอีกทางหนึ่งในการเพิ่มโกรทฮอร์โมนที่สามารถทำควบคู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็คือการเสริมกรดอะมิโนให้กับร่างกาย มีกรดอะมิโนหลายชนิดที่มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าสามารถกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ กรดอะมิโนเหล่านี้ประกอบไปด้วย กรดอะมิโนอาร์จินีน[5] กรดอะมิโนไลซีน และกรดอะมิโนออร์นิทีน[6] เป็นต้น
กรดอะมิโนอาร์จินีนถึงแม้จะไม่ได้ถูกจัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ แต่ก็ถูกใช้กันมานานในรูปแบบอาหารเสริมโดยเฉพาะอาหารเสริมกลุ่มที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย กรดอะมิโนอาร์จินีนเป็นสารตั้งต้นของไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้กรดอะมิโนอาร์จินีนถูกมองว่ามีคุณสมบัติเด่นกว่ากรดอะมิโนตัวอื่นๆมีงานวิจัยที่ใช้กรดอะมิโนอาร์จินีนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด(peripheral arterial disease) หรือมีอาการเจ็บหน้าอก ( stable angina pectoris) แล้วพบว่ากลุ่มทดลองมีความสามารถในการออกกำลังกายมากขึ้น
9 World J Mens Health. 2019 Jan; 37(1): 19–30.
10 Phys Sportsmed. 2010 Oct;38(3):97-104.
11 Physiol Rep. 2014 Oct; 2(10): e12166.
12 Am J Clin Nutr. 2000 Jul;72(1):96-105.
13 Food Sci Biotechnol v.26(6); 2017 PMC6049717
14 Nutrition. Jul-Aug 2002;18(7-8):657-61.
แต่อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยนี้ผู้วิจัยไม่ได้สรุปว่ากรดอะมิโนอาร์จินีนเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายในกลุ่มทดลอง[7][8] งานวิจัยอีกชิ้นระบุว่ากรดอะมิโนอาร์จินีนสามารถกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ดี โดยระดับของโกรทฮอร์โมนสูงขึ้นได้หมดไม่ว่าจะเป็นการได้รับกรดอะมิโนอาร์จินีนทางหลอดเลือดหรือทางปาก แต่การรับประทานกรดอะมิโนอาร์จินีนในขนาดสูงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร[1] และอาจทำให้อาการของการติดเชื้อไวรัสเริมกำเริบได้

กรดอะมิโนไลซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นอีกตัวที่พบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีรายงานว่ากรดอะมิโนไลซีนสามารถช่วยลดความเครียดและช่วยลดอาการวิตกกังวลได้ [2] กรดอะมิโนไลซีนยังมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการดูดซึมและลดการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย [3]กรดอะมิโนไลซีนมักถูกนำมาใช้คู่กับกรดอะมิโนอาร์จินีนเนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการกำเริบของเชื้อไวรัสเริม[4] โดยเฉพาะเมื่อใช้ในขนาดมากกว่า 1กรัม/วัน[5] นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากรดอะมิโนไลซีนสามารถกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ดีเมื่อใช้คู่กับกรดอะมิโนอาร์จินีนอีกด้วย[6]
ถึงแม้ว่ากรดอะมิโนออร์นิทีนจะไม่ได้ถูกจัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็น แต่ก็มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการใช้ร่วมกับกรดอะมิโนอาร์จินีสามารถช่วยเพิ่มการสร้างโกรทฮอร์โมนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา[7]
จะเห็นว่ามีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่าการเสริมกรดอะมิโนสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ และการใช้กรดอะมิโนเพียงชนิดเดียวอาจไม่ได้ผลดีเท่าการใช้กรดอะมิโนที่หลากหลาย ซึ่งนั่นก็คือการเลียนแบบการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีนแต่เพียงอย่างเดียวจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และเพื่อให้ได้ประโยชน์จากอาหารเสริมอย่างเต็มที่ การบริโภคอาหารเสริมควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมร่วมด้วย พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายเป็นประจำและนอนหลับให้เพียงพอด้วย
15 Bednarz B, et al. L-arginine supplementation prolongs exercise capacity in congestive heart failure. Kardiologia
Polska. 2004;60:348–53
16 Cheng J, et al. L-arginine in the management of cardiovascular disease. Annals
Pharmacotherapy. 2001;35:755–64. doi: 10.1345/aph.10216
17 Growth Horm IGF Res. 2005 Apr;15(2):136-9. doi: 10.1016/j.ghir.2004.12.004. Epub 2005 Jan 26.
18 Biomed Res. 2007 Apr;28(2):85-90.
19 Nutrition. Nov-Dec 1992;8(6):400-5.
20 Altern Med Rev. 2005 Jun;10(2):123-7.
21 Integr Med (Encinitas). 2017 Jun; 16(3): 42–46
22 J Clin Endocrinol Metab. 2008 Feb;93(2):584-90.
23 J Strength Cond Res. 2010 Apr;24(4):1082-90.
บทความโดย :
แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันประจำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ Vitallife Scientific Wellness Center และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ RAKxa Wellness, พญ. วิมลจันทร์ วุฒิคงสมบัติ