top of page
  • Writer's pictureVitalKlares

สารสื่อประสาท... สารเคมีเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่

Updated: Aug 30, 2021


สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับรู้ ความจำ สมองควบคุมการแสดงออกของอารมณ์รวมไปถึงการทำงานของร่างกาย สมองทำงานโดยผ่านการควบคุมจากสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) สารสื่อประสาทจึงเป็นเหมือนสถาปนิกหรือวิศวกรชีวภาพที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบอารมณ์และควบคุมการทำงานของร่างกาย หากมีการสูญเสียสมดุลของสารสื่อประสาทไปก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ และก่อให้เกิดความผิดปกติในทางลบต่อร่างกายได้ในระยะยาว


สารสื่อประสาทที่สำคัญในสมองประกอบไปด้วย


1. นอร์อะดรีนาลินและอะดรีนาลิน (Noradrenaline and Adrenaline)

นอร์อะดรีนาลินและอะดรีนาลิน เป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติในการตอบสนองต่อความเครียด นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต่อกระบวนการสร้างการจดจำ และกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ปริมาณของสารสื่อประสาทชนิดนี้ที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายสามารถตอบสนองต่อความเครียดได้เป็นอย่างดี ความเครียดเรื้อรังจะทำให้ปริมาณสารสื่อประสาทสองชนิดนี้ลดลง และทำให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะคับขันหรือความเครียดได้ไม่ดี ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตและภูมิคุ้มกัน


2. โดพามีน (Dopamine)

โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทสำคัญที่ควบคุมสมองส่วน Reward และ Pleasure Center โดพามีนจึงเป็นสาระสำคัญในการสร้างความพึงพอใจ มีบทบาทต่อพฤติกรรม การเรียนรู้และการจดจำ รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและอารมณ์ หากระดับปริมาณของโดพามีนมีน้อยเกินไปก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคซึมเศร้า ในขณะที่ถ้ามีระดับโดพามีนมากเกินไปก็อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท


3. กลูตาเมต (Glutamate)

กลูตาเมตจัดเป็นสารสื่อประสาทประเภทชนิดกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ แต่กลูตาเมตในปริมาณมากก็อาจจะเป็นพิษกับสมองได้ ดังนั้น การรักษาระดับปริมาณกลูตาเมตจึงมีความสำคัญ กลูตาเมตพบได้จากอาหารกลุ่มโปรตีนและพบได้มากในรูปของผงชูรส


4. เซโรโทนิน (Serotonin)

เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่ถูกจัดว่าเป็นสารแห่งความสุข (Happiness molecule) ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ผ่อนคลาย ความรู้สึกมีความสุข และการรับรู้ พบได้มากในสมอง และลำไส้ หากระดับของเซโรโทนินผิดปกติก็จะนำไปสู่อาการซึมเศร้า และ ก่อให้เกิดความผิดปกติของการนอนหลับได้


5.เอนโดฟิน (Endophin)

เอนโดฟินเป็นสารสื่อประสาทที่มีโครงสร้างและหน้าที่คล้ายกับโอปิออยด์ (opioid) ที่เป็นสารระงับความปวดตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาความเครียด สร้างความรู้สึกพึงพอใจและเป็นสุข แต่ละคนจะมีการหลั่งเอนโดรฟินในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายของเราหลั่งเอนโดรฟินได้แก่การออกกำลังกาย การรับประทานช็อกโกแลต เป็นต้น


6. กาบา (GABA)

กาบาเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ยับยั้งหรือลดการทำงานของเซลล์ประสาทไม่ให้ทำงานมากเกินไป จึงมีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องกับอารมณ์และช่วยลดความเครียด ระดับของกาบาที่ต่ำอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกังวล ซึมเศร้า หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ นอกจากนี้การขาดกาบาอาจจะทำให้เกิดการชักได้


จะเห็นได้ว่าสารสื่อประสาทสามารถแบ่งหน้าที่เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กระตุ้นสมอง และช่วยให้สมองผ่อนคลาย ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การขาดสมดุลของสารสื่อประสาทอาจก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า มีปัญหาการนอนหลับ รวมทั้งยังส่งผลกับการทำงานของร่างกายได้ เช่นรบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบภูมิคุ้มกัน การรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทให้เป็นปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก



ปัจจุบัน การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มลพิษในสิ่งแวดล้อม สารปนเปื้อนหรือสารปรุงแต่งในอาหารอาหารล้วนแล้วแต่มีส่วนในการรบกวนการสร้างและการทำงานของสารสื่อประสาท การใช้สารกระตุ้น เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือนิโคตินก็เป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเสียสมดุลของสารสื่อประสาท แต่สิ่งรบกวนที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือความเครียด โดยเฉพาะความเครียดสะสม ดังนั้นการจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปรับปริมาณสารสื่อประสาทให้อยู่ในระดับปกติได้


มีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทโดยการใช้ยาในกลุ่มนูโทรปิกส์ (Nootropics : Nootropics มาจากภาษากรีก ประกอบด้วย 2 คำ คือ noos หมายถึง จิต (mind) และ tropein หมายถึง ข้างหน้า( toward) )[1][2]เช่น Piracetam , Ritalin แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนอีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงมีการศึกษาการใช้สารสกัดจากธรรมชาติมาใช้ทดแทนยาเพื่อการเพิ่มประสิทธภาพการทำงานของสมอง (brain booster) เช่นสารสกัดจากใบแปะก๊วย โสม และพรมมิ[3] เป็นต้น นอกจากนี้สารอาหารอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็เป็นอีกตัวที่ถูกพูดถึงว่ามีคุณสมบัติช่วยเสริมการทำงานของสมองโดยเฉพาะในเรื่องความจำ[4]


สารอาหารอื่นที่มีคุณสมบัติเป็น brain booster ที่น่าสนใจก็คือโปรตีน ซึ่งเป็นกลุ่มของกรดอะมิโน กรดอะมิโนไทโรซีน (L-Tyrosine) สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (L-Phenylalanine) และจัดเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทโดปามีนและนอร์อะดรีนาลินที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้สมองมีความตื่นตัว ตอบสนองกับความเครียดได้ดี และทนต่อความเครียด แหล่งอาหารที่พบกรดอะมิโนไทโรซีน ได้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไก่, ไก่งวง, นม, โยเกิร์ต, ชีส, ถั่วลิสง, ถั่วอัลมอนด์, เมล็ดฟักทอง, งา, ถั่วเหลือง เป็นต้น



[1] Lanni C, Lenzken SC, Pascale A.Cognition enhancers between treating and doping the mind. Pharmacol Res 2008;57: 196-213.
[1] สมศักดิ์เทียมเก่า. Nootropic drugs. จุลสารสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2548;6,4:8-12.
[1]Evid Based Complement Alternat Med. 2016; 2016: 4391375. Published online 2016 Aug 30. doi: 10.1155/2016/4391375
[1] Neuropharmacology. 2013 Jan;64:550-65.  doi: 10.1016/j.neuropharm.2012.07.019. Epub 2012 Jul 27.

มีการศึกษาว่าการรับประทานกรดอะมิโนไทโรซีนที่เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทโดปามีนและนอร์อะดรีนาลินนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มความจำ ความตื่นตัวและเพิ่มการสร้างสารสื่อประสาทสองชนิดนี้ได้ในคนปกติ[1] การลดลงของสารสื่อประสาททั้งสองชนิดนี้มักพบได้ในภาวะที่ร่างกายมีความเครียด

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกรดอะมิโนไทโรซีนจึงสามารถช่วยให้ร่างกายทนและตอบสนองต่อความเครียดได้ดียิ่งขึ้น[1] คุณสมบัติที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือกรดอะมิโนไทโรซีนเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้นกรดอะมิโนไทโรซีนจึงสามารถช่วยเสริมและป้องกันการลดลงของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในภาวะเครียดได้อีกด้วย[2]

นอกจากกรดอะมิโนไทโรซีนที่กล่างไปแล้ว ยังพบว่ามีกรดอะมิโนที่น่าสนใจอีกชนิดที่มีส่วนช่วยปรับสมดุลสารสื่อประสาทได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็คือ กรดอะมิโนธีอะนีน (L-Theanine)

กรดอะมิโนธีอะนีน (L-Theanine) จะแตกต่างจากกรดอะมิโนอื่นทั่วไปที่มักพบจากเนื้อสัตว์ กรดอะมิโนธีอะนีนในธรรมชาติสามารถพบได้จากพืช โดยถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1949 จากศูนย์วิจัยในโตเกียวจากการสกัดยอดอ่อนของใบชาเขียวเกียวกุโระ(Gyokuro) ซึ่งเป็นชาเขียวคุณภาพสูง การบริโภคตามธรรมชาติจะพบกรดอะมิโนธีอะนีนในปริมาณไม่มาก กรดอะมิโนธีอะนีนได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยา หรือ FDA ในสหรัฐอเมริกาว่าเป็น Generally Recoginized as Safe (GRAS) หรือสารที่มีความปลอดภัยสูง[3] ดังนั้นการบริโภคกรดอะมิโนธีอะนีนในรูปแบบอาหารเสริมจึงจัดว่ามีความปลอดภัย ทำให้กรดอะมิโนธีอะนีนถูกนำมาใช้ในรูปแบบของอาหารเสริมเพื่อต้านความเครียด ปรับสมดุลอารมณ์และเพิ่มความจำกันอย่างแพร่หลาย[4]

กรดอะมิโนธีอะนีนมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทโดปามีน จึงสามารถช่วยลดอารมณ์หดหู่และซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด นอกจากนี้ยังสามารถช่วยรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทกลุ่มกระตุ้นและยับยั้งให้ทำงานประสานกันได้อย่างเหมาะสม สามารถทำให้สมองตื่นตัวโดยไม่มีอาการง่วงซึม[1][2] กรดอะมิโนธีอะนีนยังช่วยควบคุมไม่ให้สมองถูกกระตุ้นมากเกินไปโดยการกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลาย เช่น กาบาและเซอโรโทนินซึ่งเป็นสารแห่งความสุข (Serotonin)[1] ดังนั้นกรดอะมิโนธีอะนีนจึงมีคุณสมบัติช่วยต้านอารมณ์ลบจากความเครียด และสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยทำให้การนอนหลับมีคุณภาพดีขึ้น[2]

[1] Neuropsychologia. 2015 Mar;69:50-5. doi: 10.1016/j.neuropsychologia.2015.01.022. Epub 2015 Jan 16.
[1] J Psychiatr Res 2015 Nov;70:50-7. doi: 10.1016/j.jpsychires.2015.08.014. Epub 2015 Aug 25
[1] Neural Regen Res. 2012 Jun 25; 7(18): 1413–1419.doi: 10.3969/j.issn.1673-5374.2012.18.008
[1] https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/source/hsdb/8166#section=Non-Human-Toxicity-Excerpts-(Complete)
[1] Nutrients. 2019 Oct; 11(10): 2362. Published online 2019 Oct 3. doi: 10.3390/nu11102362

มีงานวิจัยพบกว่าการใช้กรดอะมิโนไทโรซีนและกรดอะมิโนธีอะนีนในรูปแบบของ Protein bar มีผลช่วยเพิ่มความจำ ความสามารถในการทำงานของสมองส่วนหน้า (executive function) และช่วยปรับอารมณ์ได้[3] งานวิจัยอีกชิ้นก็ยังพบว่าการใช้กรดอะมิโนไทโรซีนและกรดอะมิโนธีอะนีนร่วมกับคาเฟอีนในปริมาณต่ำยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวร่างกายในนักกีฬาได้อีกด้วย[4]

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกรดอะมิโนไทโรซีนและกรดอะมิโนธีอะนีนจึงจัดเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยในการบำรุงสมอง ปกป้องสมองจากความเครียด ช่วยสร้างความตื่นตัว เสริมความจำ ปรับอารมณ์ และเพิ่มคุณภาพการนอนที่มีประสิทธิภาพ ปราศจากผลข้างเคียง


[1] Korean Journal of Nutrition, 36(9): 918-923
[1]https://www.liebertpub.com/doi/abs/10.1089/10762800151125092
[1] J Herb Pharmacother. 2006;6(2):21-30.
[1]J Am Coll Nutr. 2015;34(5):436-47. doi: 10.1080/07315724.2014.926153. Epub 2015 Mar 11.
[1] Nutrients. 2017 Dec; 9(12): 1332.Published online 2017 Dec 7. doi: 10.3390/nu9121332
[1]J Int Soc Sports Nutr. 2019; 16: 56. Published online 2019 Nov 26. doi: 10.1186/s12970-019-0326-3

บทความโดย :

แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันประจำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ Vitallife Scientific Wellness Center และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ RAKxa Wellness, พญ. วิมลจันทร์ วุฒิคงสมบัติ


4,000 views
bottom of page