top of page
  • Writer's pictureVitalKlares

แคลเซียม แร่ธาตุสำคัญ เพื่อกระดูกที่แข็งแรง

Updated: Aug 30, 2021

โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประชากรไทย ข้อมูลจากการสํารวจความชุกของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงอายุมากกว่า 40-80 ปี โดยพิจารณาจากความหนาแน่นของกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) และ/หรือที่กระดูกคอสะโพก (femoral neck) พบว่าร้อยละ 1.7-22.6 ของหญิงอายุ 40-59 ปีเป็นโรคกระดูกพรุน และพบมากกว่า 1 ใน 3 ของหญิงที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป [1] ในขณะที่ความชุกของโรคกระดูกพรุนพบน้อยกว่าในผู้ชาย (ร้อยละ 7.1-14.5 ในชายที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) [2] นอกจากเพศ อายุและระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว การได้รับแร่ธาตุโดยเฉพาะแคลเซียมอย่างเพียงพอก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อรักษาความแข็งแรงของกระดูก



คำแนะนำของปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับประจําวันสําหรับคนไทยแตกต่างกันตามช่วงอายุ ในวัยเด็กและวัยรุ่นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณมวลกระดูกจนถึงระดับมวลกระดูกสูงสุด ในผู้ใหญ่เพื่อให้กระดูกแข็งแรงและคงภาวะสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย และในผู้สูงอายุเพื่อลดการสูญเสียมวลกระดูกที่เกิดมากขึ้นตามอายุให้น้อยที่สุด ลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน และอาจลดความเสี่ยงของกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยเด็กอายุ 1-3 ปีควรได้รับ 500 มิลลิกรัม เด็กอายุ 4-8 ปี 800 มิลลิกรัม วัยรุ่นอายุ 9-18 ปี 1,000 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ควรได้รับแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม และสําหรับผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม [3] โดยเน้นแหล่งแคลเซียมจากอาหารเป็นหลัก อย่างไรก็ตามประชากรไทยส่วนใหญ่ได้รับปริมาณแคลเซียมจากอาหารต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน [4] มีรายงานว่าผู้หญิงไทยเกือบร้อยละ 90 บริโภคแคลเซียมน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่แนะนำตามวัย และมีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยที่ได้รับจากอาหารเพียง 265 มิลลิกรัมต่อวัน [5] ซึ่งยิ่งได้รับแคลเซียมน้อยก็ยิ่งมีตัวบ่งชี้การสลายของกระดูกเพิ่มขึ้นและมีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก หากได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอตามที่กําหนด จึงแนะนําให้เสริมแคลเซียม

แร่ธาตุแคลเซียมเกือบทั้งหมดในร่างกายเก็บสะสมในรูปของสารประกอบไฮดรอกซีอะพาไทท์ (hydroxyapatite) ในกระดูกและฟัน จึงทำหน้าที่รักษาความแข็งแรงและรูปร่างของกระดูกเป็นหลัก ความแข็งแรงของกระดูกยังขึ้นอยู่กับการได้รับแร่ธาตุแมกนีเซียมอย่างเพียงพอเพื่อทำให้เซลล์สร้างกระดูก (osteoblast) และเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) ทำงานอย่างสมดุลทำให้โครงร่างกระดูกมีความแข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย [6-7] สมดุลของแคลเซียมเกี่ยวข้องกับการดูดซึมแร่ธาตุผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร การขับออกหรือดูดกลับทางไต และปริมาณแร่ธาตุที่สะสมอยู่ในกระดูก โดยมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (parathyroid hormone) แคลซิโทนิน (calcitonin) และวิตามินดี (1,25-dihydroxyvitamin D) ควบคุมสมดุลดังกล่าว [6, 8] ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีการดูดซึมแคลเซียมผ่านเยื่อบุทางเดินอาหารและกระบวนการดูดกลับแคลเซียมทางท่อไตมีประสิทธิภาพลดลง รวมถึงมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารน้อยลง หรืออาจใช้ยาลดการหลั่งกรดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ปริมาณใยอาหารหรือไฟเตตที่รับประทานร่วมกับแคลเซียมจะขัดขวางการดูดซึมผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร ยิ่งถ้าได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะเร่งการสูญเสียมวลกระดูกและเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น

ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมในรูปเกลือหลายชนิด โดยเกลือแคลเซียมแต่ละชนิดมีองค์ประกอบของแร่ธาตุแคลเซียมแตกต่างกัน (ตารางที่ 1) แคลเซียมคาร์บอเนตเป็นเกลือแคลเซียมที่ใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดและมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเกลือชนิดอื่น มีแร่ธาตุแคลเซียมร้อยละ 40 ของปริมาณเกลือแคลเซียมที่ได้รับ แต่อัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายค่อนข้างต่ำและต้องการภาวะกรดของกระเพาะอาหารในการแตกตัวและดูดซึม มีโอกาสเกิดอาการไม่สบายท้อง แน่นท้องหรือท้องผูกจากการเสริมผลิตภัณฑ์แคลเซียมด้วยเกลือชนิดนี้ได้มาก ในขณะที่แคลเซียมคีเลตกับกรดอะมิโน (calcium amino acid chelate) เช่น Calcium L-threonate จะมีค่าชีวสมมูลสูงถึงเกือบร้อยละ 95 แม้จะมีแร่ธาตุแคลเซียมน้อยกว่า นอกจากนี้ L-threonic acid ซึ่งเป็นเมแทบอไลท์ (metabolite) ของวิตามินซีจึงทำหน้าที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจน และเสริมกระบวนสะสมแร่-ธาตุในกระดูก (bone mineralization) ได้ดียิ่งขึ้น [9-11]


ตารางที่ 1 ร้อยละปริมาณธาตุแคลเซียมของเกลือแคลเซียมชนิดต่าง ๆ [8, 12, 13]

ข้อบ่งใช้ของการเสริมแคลเซียม

ร่างกายขาดแคลเซียมและรับประทานจากอาหารได้ไม่เพียงพอแม้จะปรับอาหารให้มีแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว ควรพิจารณาในผู้ที่รับประทานอาหารเพื่อให้ได้แคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการต่อวันได้ยาก หรือมีความต้องการของร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวการกลืนหรือการเข้าถึงอาหาร หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่รับประทานอาหารเจหรือมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือกำลังเกิดโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ทั้งนี้ควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้งว่ามีการเสริมผลิตภัณฑ์แคลเซียมอยู่ เนื่องจากมีโอกาสที่แคลเซียมจะเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่รักษาโรค หรืออาจมีการใช้แคลเซียมรูปแบบอื่นเสริมอยู่แล้ว


ขนาดรับประทาน

การคำนวณปริมาณแคลเซียมที่ได้รับต่อวันทั้งหมดมาจากปริมาณแคลเซียมที่ได้รับจากอาหารและปริมาณแคลเซียมที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ การรับประทานแคลเซียมเสริมในแต่ละครั้งควรให้ได้แร่ธาตุแคลเซียมครั้งละไม่เกิน 400-500 มิลลิกรัมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมผ่านเซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กได้สูงสุด เช่น หากเสริม Calcium L-threonate ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง จะได้แร่ธาตุแคลเซียมประมาณ 250 มิลลิกรัมต่อวัน


คำเตือน/ข้อควรระวัง

ไม่ควรได้รับแคลเซียมรวมต่อวันเกินกว่าปริมาณสูงสุด คือ 2,000-3,000 มิลลิกรัม เนื่องจากทำให้แคลเซียมในเลือดและในปัสสาวะสูง เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต

ระวังการเกิดอันตรกิริยากับยาบางกลุ่ม เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม fluoroquinolone เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง
1. Limpaphayom KK, Taechakraichana N, Jaisamrarn U, Bunyavejchevin S, Chaikittisilpa S, Poshyachinda M, et al. Prevalence of osteopenia and osteoporosis in Thai women. Menopause 2001;8:65-9.
2. Pongchaiyakul C, Apinyanurag C, Soontrapa S, Soontrapa S, Pongchaiyakul C, Nguyen TV, et al. Prevalence of osteoporosis in Thai men. J Med Assoc Thai 2006; 89 (2): 160-9.
3. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ..2563. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ. 2563 
4. วิชัย เอกพลากร, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า, บรรณาธิการ. รายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4..2551-2552. นนทบุรี: สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; 2554
5. Pongchaiyakul C, Kosulwat V , Charoenkiatkul S , Chailurkit L , Rojroongwasinkul N , Rajatanavin R. The association of dietary calcium, bone mineral density and biochemical bone turnover markers in rural Thai women. J Med Assoc Thai 2008;91(3):295.
6. Weaver CM, Heaney RP. Chapter 7 - Calcium. In: Ross C, Cabollero B, Cousins RJ, Tucker KL, Zeigler TR, editors. Modern Nutrition in Health and Disease. 11th ed. Philadelphia: Lippincott Williams and Wilkins; 2012. p. 133-49.
7. Castiglioni S, Cazzaniga A, Albisetti W, Maier JAM. Magnesium and osteoporosis: current state of knowledge and future research directions. Nutrients 2013;5:3022-33;
8. Hu X, Cheng H, He S, Zhai G. Progress in the study of calcium formulations. Res Rev Drug Deliv. 2018;2(2):1-12.
9. Wang HY, Hu P, Jiang J. Pharmacokinetics and safety of calcium L-threonate in healthy volunteers after single and multiple oral administrations. Acta Pharmacol Sin. 2011 Dec;32(12):1555-60. 
10. Rowe DJ, Ko S, Tom XM, Silverstein SJ, Richards DW. Enhanced production of mineralized nodules and collagenous proteins In Vitro by calcium ascorbate supplemented with vitamin C metabolites. J Periodontol. 1999;70:992-9.
11. Aguilar F, Charrondiere UR, Dusemund B, Galtier P, Gilbert J, Gott DM, et al. Opinion on calcium L-threonate for use as a source of calcium in food supplements-scientific panel on food Additives and Nutrient Sources added to food (ANS). Eur Food Safety Authority J. 2008;6:1-20.
12. National Library of Medicine. Calcium L-Threonate. [Accessed date 28 Jan 2021]. Available from: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Calcium-L-Threonate#section=Depositor-Provided-PubMed-Citations
13. Cornell University. Calcium Equivalents. [Accessed date 28 Jan 2021]. Available from: http://www-users.med.cornell.edu/~spon/picu/calc/cacalc.htm 

109 views
bottom of page