VitalKlares
Stay safe : อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลไวรัส
Updated: Aug 30, 2021
เรามารู้จักวิธีสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันไวรัสและป้องกันมะเร็งกันค่ะ

"ทำไมระบบภูมิคุ้มกันจึงสำคัญ?"
ระบบภูมิคุ้มกัน คือ
ระบบที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันอันตรายทั้งที่เกิดจากเชื้อโรค มลภาวะ หรือแม้แต่สารก่อมะเร็ง เพื่อให้เรามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติได้ ระบบนี้จะทำงานร่วมกับระบบน้ำเหลือง โดยระบบน้ำเหลืองจะสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ขึ้นมา ทำหน้าที่ต่อสู้และทำลายสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. ระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาตั้งแต่เกิด (Innate Immunity)
มีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทำลายร่างกาย และมีความสามารถทำลายสิ่งแปลกปลอมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นจะต้องเจอ หรือจดจำลักษณะเฉพาะของสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ มาก่อน ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนเกราะป้องกันด่านแรกของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมใหม่ ๆ เช่น เชื้อไวรัสที่ร่างกายไม่เคยรู้จักมาก่อนระบบภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะมีบทบาทหลักในการปกป้องร่างกาย
2. ระบบภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity)
เป็นระบบที่จะต้องมีการสัมผัสเชื้อครั้งแรกก่อน แล้วจดจำ และสร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้น เมื่อมีเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมนี้เข้ามาอีก จึงจะสามารถทำลายหรือปกป้องร่างกายจากเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นได้
ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้ จะปกป้องเราได้ก็ต่อเมื่อเคยติดเชื้อจนเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว จึงจะป้องกันการติดครั้งต่อไป
ระบบภูมิคุ้มกันมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ร่างกายใช้ในการต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งแบคทีเรีย และไวรัส ที่จะเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งใช้ในการกำจัดเซลล์มะเร็งหรือเซลล์กลายพันธุ์ ทั้งนี้พบว่าเซลล์กลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นในร่างกายได้ตลอดเวลา และส่วนหนึ่งที่เรายังไม่เป็นมะเร็งนั้นก็เพราะเรามีระบบเม็ดเลือดขาวที่ดีช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น จนไม่สามารถรวมตัวกันก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
หากระบบภูมิต้านทานของเราทำงานได้น้อยลง เซลล์กลายพันธุ์จะสามารถรวมตัวกันแล้วเพิ่มจำนวนจนเกิดมะเร็งได้ในที่สุด

ในหนึ่งวันเราอาจสัมผัสสิ่งแปลกปลอมมากมาย ทั้งเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส พยาธิ ต่างๆ. สารเคมีที่เจือปนอยู่ในอากาศหรืออาหาร ที่จะเข้าสู่ร่างกายทาง ผิวหนัง ทางระบบหายใจ ทางระบบย่อยอาหาร หรือทางระบบหมุนเวียนเลือด โดยปกติ ร่างกายจะมีการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยระบบภูมิคุ้มกัน สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย
เพราะร่างกายมีกลไกต่อต้านหรือท้าลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นในรูปแบบของระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาตั้งแต่เกิด หรือแบบไม่เจาะจง
อันที่จริง ในแต่ละอวัยวะร่างกายมีกลไกในหลายด้านที่คัดกรอง และป้องกันสิ่งแปลกปลอม ได้แก่
ด่านแรกที่ผิวหนัง จะมีเคราติน ( keratin ) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ เรียงตัวหลายชั้นในเซลล์ผิวหนัง เพื่อป้องกันการเข้าออกของสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ บางตำแหน่งของผิวหนังจะมีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันคอยหลั่งสาร เช่น กรดแลกติก (lactic acid), กรดไขมัน ทำให้สภาพผิวเป็นกรด ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด ส่วนระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ หรือช่องคลอด ซึ่งมีส่วนที่ติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย จะมีเยื่อบุที่ทำหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของสารต่าง ๆ และยังมีต่อมที่คอยสร้างเมือก เพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอม หรือแม้แต่ในน้ำตาและน้ำลาย จะมีไลโซไซม์ (lysozyme) ช่วยทำลายเชื้อโรคบางชนิด เช่นเดียวกับเยื่อบุในกระเพาะอาหารที่มีสภาพเป็นกรดและหลั่งเอนไซม์คอยช่วยทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคบางชนิดด้วย
แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมสามารถผ่านด่านป้องกันแรกดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันโดยเม็ดเลือดขาวจำพวกโมโนไซท์ (monocyte) ในกระบวนการฟาโกไซโตซิส (phagocytosis) เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา เม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดจะเข้าไปยังบริเวณเนื้อเยื่อดังกล่าว และมีขนาดใหญ่ขึ้น
เรียกว่า แมคโครฟาจ (macrophage) ร่วมกับเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น เช่น นิวโตรฟิวล์ (neutrophil) จะช่วยกันทำลายบรรดาสิ่งแปลกปลอม เช่น จุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ ส่วนกลไกการต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ เป็นการทำงานหลักของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ได้แก่ T-cell และ B-cell lymphocyte

B-cell lymphocyte
ทำหน้าที่ผลิตภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสิ่งแปลกปลอมแต่ละชนิดที่เข้ามา เมื่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาถูกทำลายด้วยวิธีฟาโกไซโทซิสแล้ว ชิ้นส่วนที่ถูกทำลายจะไปกระตุ้น B-cell lymphocyte ซึ่งจะแบ่งตัวและทำหน้าที่เป็นเซลล์ซึ่งจดจำ (memory cell) ว่าถ้ามีสิ่งแปลกปลอมชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายอีก ระบบภูมิคุ้มกันก็จะเข้ามาทำลายไม่ให้ก่อโรค
T-cell และ B-cell lymphocyte

T-cell lymphocyte
เป็นเซลล์ที่รับรู้การกระตุ้นจากสิ่งแปลกปลอมแต่ละชนิด เช่น สิ่งแปลกปลอมอาจเป็น เซลล์มะเร็ง เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่ง T-cell lymphocyte จะมีรูปแบบการตอบสนองจำเพาะต่อสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค เช่น ป้องกันการเกิดมะเร็ง หรือโรคติดเชื้อไวรัส เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกำหนดมาให้ดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเกิดโรคและเราทุกคนก็สามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้อย่างสมบูรณ์ได้ในทุกวัน ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อให้มีภูมิคุ้มก้นร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ดังนี้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ รับประทานวิตามินธรรมชาติหลากหลายชนิดจากผักผลไม้หลากสี

ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2 ลิตร ดื่มครั้งละไม่มากเกินไป เรื่อย ๆ ทั้งวัน

รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น จำพวกเห็ด ผักจำพวกบร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี อะโวคาโด มะเขือม่วง หัวไชเท้า แครอท ผลไม้เช่น ส้ม เสาวรส
ทับทิม สตรอเบอร์รี่ เชอรี่ แคนตาลูป เป็นต้น

ออกกำลังกายอยู่เสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที และอย่าลืมเหยียดยืดกล้ามเนื้อ เพื่อคลายเครียดและการตึงตัวของกล้ามเนื้อ เพราะเมื่อเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ส่งผลให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรงได้เช่นกัน

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อคืน เข้านอนช่วง 4-5 ทุ่ม เพิ่ม Growth hormone ก็ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันนะคะ

วางแผนการออกกำลังกายและจัดสูตรอาหาร ตามรูปแบบการใช้ชีวิตและในแบบที่ท่านชอบ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน (Nutrition & meals for immunity)

จัดสูตรวิตามินเพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพราะเราใช้ชีวิตกว่าร้อยละ 90 อยู่นอกบ้าน และเผชิญกับความวุ่นวาย เร่งรีบ ความเครียดจากการทำงาน อาจทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอในการเสริมและสนับสนุนระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของการเกิดโรคระบาดทำให้เราตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเชิงรุก
และศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น และหนึ่งในสารอาหารที่ได้รับการยอมรับในแง่ของการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้แข็งแรงคือ เบต้ากลูแคน ( Beta-glucan )

Beta-glucan เป็นสารในกลุ่ม Polysaccharide ที่ออกฤทธิ์หลักในการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของโครงสร้างผนังเซลล์ของยีสต์ สาหร่าย เห็ด ซึ่งไม่พบในคน ซึ่ง Beta-glucan
จากต่างแหล่งที่มา จะมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน ทำให้คุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนั้น การนำไปใช้ จึงจำเป็นต้องทราบว่า Beta-glucan นั้น มาจากสารตั้งต้นชนิดไหน และมีประสิทธิภาพอย่างไร

Beta-glucan จากยีสต์
จัดเป็นแหล่งที่ได้รับความสนใจในการนำมาใช้ในทางคลินิกมากกว่าแหล่งอื่น ๆ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ในการป้องกันโรค ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่งานวิจัยมากกว่า 2,000 ฉบับ ถึงคุณสมบัติหลักในการเสริมสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีหลายการศึกษาทางการแพทย์สนับสนุนว่า เบต้ากลูแคนชนิด Beta 1,3/1,6 glucan ซึ่งสกัดจากผนังเซลล์ของยีสต์ชนิด
Saccharomyces cerevisiae มีคุณสมบัติเด่นในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมากกว่าเบต้ากลูแคนชนิดอื่น
ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด่านแรก โดย
กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว Neutrophils โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหา และตรวจจับ ทำลายสิ่งแปลกปลอม เพื่อป้องกันการเกิดโรค ดังเช่น ตรวจจับเชื้อโรค และทำลายก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อ เป็นต้น
กระตุ้นเซลล์แมคโครฟาจ ( macrophage ) ให้อยู่ในสภาพตื่นตัวในการทำลายบรรดาสิ่งแปลกปลอม เช่น จุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ เป็นต้น

กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด่านที่ 2 โดย
กระตุ้น NK cell และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell lymphocyteให้ออกมาทำงาน

NK cell (Natural Killer Cell) หรือเซลล์เพชฌฆาต เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันที่คอยตรวจจับสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารก่อมะเร็ง และทำลายก่อนที่จะก่อตัวและทำให้เกิดโรคติดเชื้อ หรือมะเร็ง เป็นต้น

Beta-glucan จึงมีบทบาทในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเกิดมะเร็งผ่านระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
Beta-glucans ช่วยในการลดผลข้างเคียงหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในคนไข้มะเร็ง และช่วยให้การฟื้นตัวหลังการให้เคมีบำบัดดีขึ้นผ่านระบบเม็ดเลือดขาว
มีการศึกษาพบว่า การรับประทาน Beta 1,3 glucan ร่วมกับยาปฏิชีวนะในคนไข้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถเพิ่มภูมิต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรีย โดย Beta 1,3 glucan จะไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานร่างกาย และปรับสภาวะร่างกายให้เหมาะสมกับการทำงานของยาปฏิชีวนะ ทำให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น
เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายชนิด Neutrophils , Macrophages , NK cells มีตัวรับจำเพาะของเบต้ากลูแคนชนิด Beta 1,3 glucan ดังนั้น เบต้ากลูแคนชนิด Beta 1,3 glucan จึงมีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพเชิงรุกกันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการตรวจสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และใส่ใจกับการออกกำลังกายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังตระหนักถึงการดูแลภูมิคุ้มกันร่างกายไม่มากนัก จนกระทั่งในสถานการณ์ของการเกิดโรคระบาดในปัจจุบัน ทำให้มีการเผยแพร่ความรู้ถึงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมากขึ้น และจากข่าวสารของการติดเชื้อไวรัส ทำให้เราประจักษ์ได้เองว่า โอกาสที่คนๆหนึ่งจะติดเชื้อได้นั้นมาจากการเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรค แต่เมื่อเจาะลึกลงไปกลับพบว่าในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ทำไมบางคนมีการติดเชื้อ และบางคนไม่ติด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ที่สามารถช่วยป้องกันร่างกายไม่ให้ติดเชื้อได้ การดูแลระบบภูมิคุ้มกันจึงสำคัญ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งระบบความคิดที่หลีกเลี่ยงภาวะเครียด การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานวิตามินที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงจึงมีบทบาทมาก และเชื่อมั่นว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไปแล้ว
เราทุกคนก็จะยังคงดูแลภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเราตระหนักได้อย่างดีแล้วว่า
"ภูมิคุ้มกันนั้นสำคัญจริง ๆ"
บทความโดย :
พญ. ธิศรา วีรสมัย หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Smart Life Antiaging Center โรงพยาบาลพญาไท 1